เปิดตัวบ้านพิพิธภัณฑ์เอกชนใจกลางกรุง

สำนักข่าวไทย
เมษายน 9, 2019

 

กรุงเทพฯ29มี.ค.-เปิดตัวครั้งแรก บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ พิพิธภัณฑ์เอกชนใจกลางกรุง ให้เข้าชมทุกวันเสาร์ที่3 ของเดือน พร้อมเสนอรัฐบาลผลักดันงานศิลปะมากขึ้น

 

บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ เปิดตัวครั้งแรก พร้อมจัดเสวนาพิเศษ หัวข้อ พิพิธภัณฑ์เอกชน อนาคต และทางแยก โดยมีนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี2554 นายสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต นายปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี2554 และนายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพและผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์

 

โดยบ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งใหม่ใจกลางกรุง ซึ่งเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ หลากหลายแขนง ทั้งหุ่นประเภทต่างๆ เครื่องสวมศีรษะ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ งานฝีมือแบบไทย โบราณวัตถุ งานจิตรกรรม ประติมากรรมไทย และเฟอร์นิเจอร์สมัยต่างๆทั้งไทยและยุโรป กว่า300 ชิ้น บนพื้นที่ 800 ตารางเมตร ซ.ลาดพร้าว50 โดยจะเริ่มเปิดให้ชมครั้งแรก วันเสาร์ที่20 เมษายนนี้ และทุกวันเสาร์ที่3 ของเดือน สนใจติดต่อ www.sermkhunkunawongmuseumhouse.com

 

นายสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต กล่าวในเสวนาพิเศษ หัวข้อ พิพิธภัณฑ์เอกชน อนาคต และทางแยก ว่า ศิลปะในเมืองไทยมีอยู่รอบตัว แต่กลับถูกมองข้ามจากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง และขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ อยากเสนอรัฐบาลอำนวยความสะดวกเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินและงานศิลปะ เพราะถือเป็นมูลค่าของแผ่นดิน

 

นายปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี2554 กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของวงการศิลปะ คือ ทำอย่างไรให้คนรู้คุณค่าของงานศิลปะอยากให้รัฐผลักดันศิลปะเทียบเท่างานวิจัยต่าง เพราะวิจัยสร้างสรรค์และนวัตกรรม คือสิ่งเดียวกัน ผลักดันคนรุ่นใหม่ในวงการศิลปะมากขึ้นและอยากให้รัฐบาลผลักดันให้เกิดเป็นกฏหมายในการคุ้มครองส่งเสริมศิลปินงานศิลปะมากขึ้น

 

นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี2554 กล่าวว่า ศิลปินต้องสร้างสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ให้คนเดินเข้าหาศิลปะของตัวเอง สิ่งที่ทำได้ไม่ต้องรอรัฐบาล สร้างความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ช่วยเหลือเกื้อหนุนศิลปินที่ยากจนให้มีที่ยืน แล้วความเข้มแข็งจะเกิดขึ้น ลดความเป็นอัตตา ความเป็นอาร์ตติสใน ต้องคุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง ถึงจะต่อยอดงานศิลปะออกสู่ภายนอกได้ ตัวอย่างเช่น จ.เชียงรายมีศิลปินอยู่ในทุกอำเภอ ทั้ง18 อำเภอ แต่ละคนต่างมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถต่อยอด ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองศิลปะที่เข้มแข็ง สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศชาติได้ รับ.-สำนักข่าวไทย