“เสริมคุณ คุณาวงศ์” ผู้เปลี่ยนบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อัดแน่นด้วยศิลปะไทยชั้นครู

tcompanion.com
เมษายน 11, 2019

 

“หากไม่รู้คุณค่า ก็ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดมูลค่าได้”

นี่คือถ้อยคำที่ อาจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติกล่าวขึ้นมากลางวงเสวนาเนื่องในวาระของการที่ผู้ชายคนหนึ่งมองเห็นคุณค่าในชิ้นงานของศิลปินไทยจนผันตัวกลายมาเป็นนักสะสมอยู่นานหลายสิบปี จนในท้ายที่สุดได้ตัดสินใจปรับบ้านครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็น “บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์” สถานที่ที่เต็มไปด้วยลมหายใจของงานศิลปะชั้นครูจากศิลปินไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดคุณสุวรรณี สุคนธา และหุ่นกระบอกโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ประติมากรรมของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ผู้อยู่เบื้องหลังประติมากรรม “เสียงขลุ่ยทิพย์” รวมไปถึงงานสุดโมเดิร์นของเหม เวชกร และงานของลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

 

“ผมไม่ได้สะสมศิลปะเฉพาะชิ้นงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง อย่างงานเขียนพอร์เทรตของอาจารย์จักรพันธุ์ผมก็เริ่มสะสมมาตั้งแต่อาจารย์ยังเป็นนักศึกษา ด้วยอยากที่จะสนับสนุนศิลปินไทย”

คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ เจ้าของบ้านหลังสีขาวกลางซอยลาดพร้าว 50 และผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพเล่าถึงที่มาของการสะสมงานศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นราว พ.ศ. 2535 จนปัจจุบันคุณเสริมคุณมีชิ้นงานที่อยู่ในการสะสมร่วม 400 ชิ้น ซึ่งแม้เป็นงานของศิลปินไทยเป็นส่วนใหญ่ ทว่าก็มีงานของศิลปินต่างชาติร่วมด้วย และเมื่อตัดสินใจเปิดบ้านพักส่วนตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ คุณเสริมคุณจึงนำงานร่วม 300 ชิ้นมาจัดแสดงโดยผสมผสานเข้าไปกับห้องต่างๆ ของบ้าน แบ่งเป็น 12 ห้องนิทรรศการ บนเนื้อที่ 800 ตารางเมตร

 

“บ้านนี้คือบ้านที่เราอยู่อาศัยจริง ดังนั้นจึงเปิดเฉพาะวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ซึ่งต้องจองล่วงหน้า ในแต่ละรอบจะมีเจ้าหน้าที่นำชม สามารถเปิดประตูเข้าไปดูในห้องนอนหรือห้องทำงานได้เลย”

ความตื่นเต้นของการเข้าชม “บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์” เริ่มต้นตั้งแต่ สวนประติมากรรมพุทธศาสนา บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสัจธรรมแห่งชีวิตที่ซ่อนอยู่ในธรรมะและธรรมชาติ เปิดประตูบ้านเข้าไปคือ โถงบทสนทนาของยุคสมัย ตกแต่งด้วยสไตล์ Eclectic ในห้องนี้เราจะได้เห็นเฟอร์นิเจอร์เก่าจากหลากหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้จากยุควิกตอเรียน-กอทิกในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เก้าอี้ Marquise Bergere จากศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 รวมทั้ง Lazy’05 Armchair Z เก้าอี้ที่ออกแบบโดยชาวอิตาเลียน อันโตนีโอ ซิเตริโอ

 

ติดกันคือ ห้องมรดกไทย เน้นงานไทยประเพณีไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธรูป ตู้พระ ชฎานาง รัดเกล้าเปลว รวมทั้งหีบพระธรรมคัมภีร์สมัยรัชกาลที่ 4 และสำหรับใครที่อยากเห็นงานจิตรกรรมไทยประเพณีของอาจารย์จักรพันธุ์ ในห้องนี้มีภาพวาดสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤตจากอุโบสถวัดตรีทศเทพ วรวิหาร ที่นำมาสร้างสรรค์ใหม่ลงบนผืนผ้าใบ

 

อีกห้องที่ตราตรึงมากคือ โถงภาพพอร์เทรต บริเวณผนังบันไดวน ที่เต็มไปด้วยสีหน้าและอารมณ์ของบุคคลต่างๆ สุดบันไดคือ ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งมีตั้งแต่ผลงานเมื่อครั้งที่อาจารย์ยังเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ไฮไลต์คือภาพขุนแผนนางวันทอง ซึ่งเป็นภาพสร้างชื่อด้านวรรณกรรมไทยของอาจารย์ นอกจากนี้ยังมีหุ่นกระบอกที่อ่อนหวานไม่แพ้ภาพวาด และทับทรวงเสือคาบดาบ ออกแบบโดยวัลลภิศร์ สดประเสริฐ สะท้อนถึงความวิจิตรในสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤตได้เป็นอย่างดี

 

โดมพุทธศิลป์ เปรียบเหมือนจังหวะไฮไลต์ของบ้านที่ทำให้หัวใจค่อยๆ เต้นโครมครามให้กับงานชั้นครูที่ค่อยๆ ปรากฏออกมาสู่สายตาภายใต้ความงดงามของโดมสีทอง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของช่วง มูลพินิจ, ปัญญา วิจินธนสาร, ปรีชา เถาทอง และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จากตรงนี้สามารถเปิดประตูไปสู่บริเวณชั้นดาดฟ้าซึ่งจัดแสดงงานประติมากรรมอันอ่อนช้อยของเขียน ยิ้มศิริ

 

และด้วยความที่บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ เป็นที่อยู่อาศัยจริง ที่นี่จึงมีประตูลับไปสู่ห้องทำงานและห้องนอนของเจ้าของบ้าน ซึ่งมีงานศิลปะจัดวางอีกเช่นกัน ที่สำคัญยังทำให้เราหลุดไปอยู่อีกโลกที่ไม่ใช่ลาดพร้าว ไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่นี่คือโลกแห่งศิลปะที่เกิดขึ้นจากคนที่เห็นคุณค่าของศิลปะอย่างแท้จริง

 

FYI

  • พิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ ตั้งอยู่เลขที่ 41-43 ซอยลาดพร้าว 50 กรุงเทพฯ
  • พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน (กำหนดเปิดให้ชมครั้งแรก 20 เมษายน 2562)
  • ค่าสนับสนุนบ้านพิพิธภัณฑ์ฯ สำหรับผู้ใหญ่ราคา 400 บาท นักเรียน นักศึกษาที่แสดงบัตรประจำตัว ราคา 200 บาท (ผู้เข้าเยี่ยมชมต้องมีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป)
  • ผู้สนใจเข้าชมบ้านพิพิธภัณฑ์ฯ สามารถจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ www.sermkhunkunawongmuseumhouse.com
  •  โทรศัพท์ 06-1626-4241