โดมพุทธศิลป์

จากชานพักชั้น 2 ของตัวบ้าน เริ่มต้นดว้ยจิตรกรรมแนวประเพณี ภาพพญาวสวตตีมาราธิราช ยกพยุหแสนยามารมาประจญพระศากยมุนีโพธิสัตว์ยังควงไม้อสตถพฤกษ ซึ่งเป็นเนื้อหาคลาสสิคที่เขียนต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี คลี่คลายไปสู่การแสดงออกพุทธศิลป์ด้วยศิลปะร่วมสมัยของ ช่วง มูลพินิจและปัญญา วิจินธนสารโดยต่อเนื่องไปถึงโถงบันไดขึ้นโดมชั้น 3 เมื่อมองขึ้นไปสุดสายตาจะเห็น ประติมากรรมพระพุทธเหนือทุกข์และสุข โดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตั้งตระหง่านอยู่ภายใต้โดมสีทองแดงสว่างอร่ามทั่วบริเวณ ประจันหน้ากับประติมากรรม รอยยิ้มแห่งกาลเวลา โดย ธนะ เลาหกัยกุล โดยมีผนังทั้งสองด้านประกอบด้วยผลงานที่มีแนวทางเป็นแบบพุทธศิลป์ เช่น งานของ ปรีชา เถาทอง เป็นภาพแสดงให้เห็นแสงและเงาภายใน โดยมีแสงที่ส่องผ่านหน้าต่างลงบนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของมารผจญ พิชัย นิรันต์ ภาพเขียนการตีความรอยพระพุทธบาทในความคิดของศิลปิน ด้านล่างจะพบ ภูเขาแห่งการเพียรพยายามทำความดีของ พัดยศ พุทธเจริญ ศิลปินผู้เพียรทำงานพุทธศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง ผนังด้านล่างจะพบงาน จิตกับวัตถุ ด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะแห่งพุทธในสังคมเมือง และภาพขนาดย่อม เขียนด้วยดินสอ ชื่อว่า พฤกษาสวรรค์ ปี 2527 เป็นปีเดียวกับที่ศิลปินเดินทางไปสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญที่วัดพุทธประทีป เมืองวิมเบิลดัน พาร์คไซด์ ประเทศอังกฤษ